ก่อนอื่นต้องบอกกล่าวกันก่อนว่า จากบทความที่ผ่านมา ถึงการเดินทางไปเยือนน้ำตกผาส้วม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งที่เรายังไม่ได้พูดถึงกันครับ
เพราะถ้าไม่พูดถึงก็ไม่ได้ครับ เหมือนมาเที่ยวแล้วเที่ยวไม่ครบครับ
หลังจากที่เพื่อนๆนักเที่ยวได้เดินทางไปเที่ยวน้ำตกผาส้วม หนึ่งในผลงานการออกแบบโดยฝีมือคนไทยแล้ว
ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆกันนั้นที่น่าสนใจไม่แพ้ความสวยงามของน้ำตกผาส้วมครับ นั่นคือ อุทยานบาเจียง นั่นเอง
ภายในโครงการแห่งนี้ได้รวบรวมหมู่บ้านโบราณหลายชนเผ่าที่ยังมีเอกลักษณ์เหลืออยู่
พร้อมทั้งจัดทำพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าเอาไว้ด้วยครับ บ้านพักของโครงการนั้นถูกตัดแปลง
จากบ้านต้นแบบของชนเผ่า ไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยว
พนักงานในโครงการแห่งนี้ประกอบไปด้วยชนเผ่า ประมาณ 8 ชนเผ่าครับ
ร่วมใจกันบริการแขกที่มาเยือนน้ำตกผาส้วม ที่เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของแขวงจำปาสักแห่งนี้
เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากที่สูง โดยตัวน้ำตกมีลักษณะโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม
น้ำที่ไหลลงมาสาดกระเซ็นสวยงามมากเมื่อได้พบเห็น
ภายในอุทยานบาเจียง จะเน้นความสะอาดของห้องน้ำ สถานที่ต่างๆ เป็นพิเศษครับ
มีบ้านพัก 18 ห้องครับ บางหลังอยู่หน้าน้ำตก บางหลังอยู่บนต้นไม้ใหญ่
(หลังนี้เจ้าหญิงกะว่าจะไปนอน) บางหลังอยู่ริมลำธารสวยงาม ทุกหลังมีห้องน้ำ “สกายรูฟ” เปิดโล่งไม่มีหลังคา
แต่มีสุขภัณฑ์มาตรฐานสากล ตามทางเดินระหว่างบ้านพักปูด้วยเขียงไม้
ทำให้จิตใจผ่อนคลาย แต่ละหลังไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีตู้เย็น
ไม่มีอินเตอร์เน็ต มีแต่นกร้องและเสียงน้ำไหลครับ
บ้านชนเผ่านั้นจะปลุกสร้างตามลักษณะของเผ่าที่ไม่เหมือนกันทั้ง 8 เผ่า บ้านเรือนแบบเก่าที่ลาวนี้ เขาจะไม่ตอกเสาลงสู่พื้นดิน
เสาบ้านทุกต้นจะวางอยู่บนพื้นเฉยๆ ครับ
ที่แรก บ้านเผ่าตะเรียง เรือนเผ่าตะเรียง เป็นเรือนเตี้ยๆ
หลังคาเป็นรูปโค้งมน ชาวเผ่าจะมีการทอผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก เพื่อนๆจะอุดหนุนไปเป็นของที่ระลึกก็ได้นะครับ
เรือนเผ่าอาลัก
เรือนของเผ่าอาลักนี้จะสูงขึ้นมาหน่อยมีบันไดขึ้นบ้านจั่วบนหลังคามีลักษณะคล้ายกาแล
ต้นเสาหน้าบ้านมีการแกะสลัก มีการทอผ้าเช่นเดียวกันครับ
เรือนเผ่ากะตู
คุณตาเผ่ากะตูได้ทำการสาธิตการเล่นดนตรีจากไม้และของเล่นจากไม้ครับ
เผ่ากะตูนี้ ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้ ๗ คน ครับ แต่จะมีได้นั้นภรรยาหลวงจะต้องเป็นผู้สู่ขอให้ครับ
ต่อมาเป็น เผ่าละแวครับ บ้านอยู่อาศัยของเผ่าละแวจะเป็นเรือนยกพื้นไม่สูงเท่าไหร่
จะมีการเจาะช่องไว้ตามฝาบ้านขนาดพอมือลอดเข้าไปได้
จะเจาะไว้ตรงบริเวณที่เป็นห้องของลูกสาวครับ ช่องนี้มีไว้ให้ชายหนุ่ม
จกมือหาหญิงสาว เป็นประเพณี กลิ้งครกจกสาว....ฟังแล้ว ก็ทำไมต้องกลิ้งครกก็ไม่รู้
ไกด์ที่นี่บอกว่า ก็พื้นบ้านยกสูงแต่สูงไม่มาก แต่ถ้าคนยืนก็ต้องชะเง้อ
เขาก็เลยเอาครกไม้ตำข้าว กลิ้งมาตรงช่อง เพื่อนำมาต่อเป็นที่ยืนให้มือสามารถ
จก เข้าไปในช่องได้ เขาจะมอบของฝากของขวัญอะไรให้กันได้... จับแต่มือหน้าก็ไม่เคยเห็นแล้วจะรู้ได้ยังไง
...ไกด์เขาก็บอกวิธีเลือกครับว่า...ถ้าคนมือหยาบหน่อยถือว่าใช้ได้ครับ เพราะถือว่าผ่านการทำงานมาเยอะ น่าจะเป็นคนขยัน ส่วนมือนุ่มๆก็ตรงกันข้ามกันเลยครับ
ยังมีอีกนะครับสำหรับเผ่าละแว เรือนเสาเดี่ยวของเผ่าละแวนั่นเองครับ
ความสูงก็ราวๆ ๓ – ๔ คนต่อกัน เรือนนี้เขาบอกว่ามีไว้สำหรับเป็นหอเฝ้าระวัง
หรือไว้สำหรับต้อนรับแขก และไว้ใช้สำหรับให้หนุ่มสาวเผ่าละแวทำความรู้จักมักคุ้นกัน
๒ ต่อ ๒ โดยต้องไม่ล่วงเกินกัน (เป็นไปได้เหรอ...?) เห็นว่าถ้าจะตกลงปลงใจกันจริงๆ
จะต้องอยู่ด้วยกันบนเรือนนี้สามวันสามคืนกันก่อนจะมีการแต่งงานครับ
และยังมีหลายเผ่าอีกมากมายครับ
ที่รอให้เพื่อนๆนักเที่ยวได้เดินทางไปชมครับ บรรยากาศที่นี่เขาดีมากครับ ร่มรื่น
พร้อมกันนั้นเพื่อนๆเองก็สามารถที่จะถ่ายรูปกะพวกชนเผ่าได้ครับ หรือจะอุดหนุนงานฝีมือก็ได้ครับ สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็ขอฝากที่นี่เอาไว้ด้วยนะครับ
รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนครับ
ได้ฃ้อมูลมาอิกแล้วแทงยูลายๆ
ตอบลบไปมาแล้วคือกันเมื่อเดือนก่อน