ตำนานรัก แห่งจำปาสัก หนึ่งหญิงสองชาย ต่างเผ่าพันธุ์ ก่อบาปรักเลือด ผูกพัน ข้ามภพ (The Legend of Vat Phou)



หนึ่งในสถานที่สำคัญทางการท่องเที่ยวที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ ปราสาทวัดพู  โบราณสถานในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ที่รวมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาแต่โบราณกาล  ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดม และสมบูรณ์ไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในเอเซีย นับได้ว่ามรดกโลกวัดพู เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยวของแขวงจำปาสัก

เรื่องราวปรัมปราในประวัติศาสตร์ของตำนานรักสามเศร้า กลายเป็นที่มาของงานแสดงอันยิ่งใหญ่อลังการแสงสีเสียงบนปราสาทหินวัดพู ในนาม  “เดอะ เลเจนด์ออฟ วัดพู” (The Legend of Vat Phou)  เทศกาลงานบุญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 หรือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์



เรื่องราวรักสามเส้า หนึ่งหญิงสองชาย ต่างเผ่าพันธุ์  ที่ก่อบาปรักเลือด ผูกพัน ข้ามภพ  " ท้าวบาเจียง นางมะโรง และท้าวจัมปาสัก " 




ตำนานเรื่องเล่าปรัมปราของตำนานรัก 3 ยุค

เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยของท้าวบาเจียง ...ท้าวบาเจียง  บุตรชายหัวหน้าบ้านชาวเผ่า  หลงรักนางมะโรง  ซึ่งเป็นสาวสวยธิดาเศรษฐีชาวลาวลุ่มผู้หนึ่ง  หากบิดาของนางเมามัวในทรัพย์สมบัติ  และได้ตกลงใจมอบหมายนางให้  ท้าวจัมปาสัก  บุตรชายของเจ้าเมืองลาวลุ่มอีกเมืองหนึ่งไปแล้ว  ดังนั้นในวันที่ท้าวบาเจียงจัดขบวนขันหมากของชาวเผ่าไปสู่ขอ  ท้าวบาเจียงจึงถูกหักหน้าอย่างร้ายกาจ   ด้วยความคับแค้นและอับอาย   ท้าวบาเจียงจึงสาปแช่งให้ความรักของนางมะโรงและท้าวจำปาสักเป็นความรักที่ทุกข์ทรมาน  แล้วท้าวบาเจียงจึงโดดหน้าผาลงไปตาย   และเมื่อนางมะโรงได้อยู่กินกับท้าวจัมปาสัก  รักของคนทั้งสองจึงเป็นความรักที่เปี่ยมทุกข์   ในที่สุดนางมะโรงก็ไม่อาจทนอยู่ต่อไปได้  จึงไปโดดหน้าผาตรงที่ท้าวบาเจียงโดดหน้าผาตายไปก่อนหน้า

…..  และในค่ำคืนวันเพ็ญที่จันทร์แจ่มกระจ่างฟ้า  ณ เศรษฐปุระนคร  เมืองเอกแห่งแว่นแคว้นเล็กๆนามเจนละ  ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกหลายร้อยปีต่อมา  จิตรเสน อนุชาต่างมารดาของกษัตริย์ผู้มีสถานะเป็นจอมทัพแห่งเศรษฐปุระ  ได้นัดพบกับนางชยันธร บุตรสาวแสนสวย ของมหาปุโรหิตย์  ที่จะเป็นราชินีของเมืองนี้คนต่อไป  เพื่อลานางไปในการศึกกับฟูนัน  เมืองทางปลายแม่น้ำโขง  หากในเงามืดนั้นกษัตริย์ภววรมันได้ซุ่มดูเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่  และได้ตัดสินใจอะไรบางอย่าง 

วันต่อมา  นางชยันธร ในฐานะคู่รักของกษัตริย์  ก็มาส่งขบวนทัพเจนละเข้าโจมตีฟูนัน   และทำให้ฟูนันอ่อนแอลงจนไม่สามารถล่องแม่น้ำโขงเข้ามาทำอะไรเจนละอีกต่อไป   แต่เจนละ  ที่ตั้งอยู่ลึกเข้ามาภายในแผ่นดินก็ไม่สามารถออกสู่ทะเลเปิดเพื่อไปค้าขายกับจีนได้ ดังนั้นเพื่อออกไปให้พ้นเส้นทางรักสามเส้า และหลุดพ้นไปจากคำครหาว่าจะเป็นกบฏชิงอำนาจพี่ชาย  จิตรเสนจึงตัดสินใจ  อาสายกกองทัพเรือเจนละ  ออกไปสำรวจเส้นทางแม่น้ำมูลเพื่อหาทางออกทะเล  หากสำหรับกษัตริย์ภววรมันพี่ชายเพื่อตอบแทนความดีของจิตรเสนผู้น้อง  และเพื่อแสดงให้จิตรเสนเห็นว่าพระองค์มิได้ไยดีในความรักต่อนางชยันธร  พระองค์จึงตัดสินใจส่งขบวนทัพเรือสำรวจแม่น้ำมูลของจิตรเสน   ด้วยประเพณีอันยิ่งใหญ่คือการจัดการบูชายัญมนุษย์ขอพรต่อองค์พระศิวะ  โดยผู้ที่พระองค์คัดเลือกให้เป็นหญิงบริสุทธ์ที่จะถูกบูชายัญนั้นก็คือ  นางชยันธร  นั้นเอง



….  ในอีกหลายร้อยปีต่อมา  ราชครูหลวงยอดแก้วโพนสะเม็ก  หรือ ยาคูขี้หอม  นำเจ้าชายแห่งราชวงศ์ล้านช้างแห่งเวียงจันทน์หนีภัยคุกคามจากการแย่งชิงราชสมบัติมุ่งหน้าลงใต้   เมื่อมาถึงดินแดนจัมปาสัก  ซึ่งในขณะนั้นมี  นางแพง เป็นเจ้าเมืองชาวชนเผ่าเป็นผู้หญิงครอบครองเมืองอยู่   ในคราวนั้นผู้คนของราชครูหลวงและเจ้าเมืองหญิงคู่คี่ก้ำกึ่งกัน   ราชครูหลวงได้เอ่ยปากหว่านล้อมให้เจ้าเมืองหญิงมอบอำนาจการปกครองให้กับเจ้าชายราชวงศ์ล้านช้าง   เจ้าเมืองหญิงตั้งคำถามขึ้นว่า  เหตุใดตนจึงต้องยกเมืองจัมปาสักให้กับเจ้าชายแห่งล้านช้าง   ราชครูหลวง  จึงสำแดงให้เจ้าเมืองหญิงมองเห็นอดีตชาติที่เจ้าเมืองเคยเกิดเป็นนางมะโรง  และนางชยันธร  ซึ่งมีบาปเคราะห์ผูกพันมากับสองชายจนถึงวันนี้ 

หากพระนางยินดีถวายเมืองให้กับเจ้าชายแห่งล้านช้าง  บาปเคราะห์ต่างๆที่ดำเนินมาร่วมกันหลายร้อยปีก็จะสิ้นสุด  และพระนางจงออกถือเพศบรรพชิตบำเพ็ญภาวนาเพื่อความสงบสุขของตนเองในชาติภพหน้าสืบไป ดังนั้นเจ้าเมืองหญิงจึงตกลงใจมอบเมืองจัมปาสักให้กับเจ้าชายแห่งล้านช้าง  

ที่มา : oknation.net



นี่เป็นช่วงจังหวะแห่งการท่องเที่ยวลาวใต้มากที่สุดครับ ถือเป็นการชมความงามของมรดกโลกแห่งที่สองของลาวเลยก็ว่าได้  เศษซากอารยธรรมที่หลงเหลือของแหล่งโบราณสถานอันยิ่งใหญ่ ต่างเป็นหลักฐานประกอบเรื่องเล่าปรัมปราเหล่านั้นได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งหมดนี้ถือเป็นความสุขที่ทำให้การเดินทางชื่นชมความงดงามของ โบราณสถานวัดพูพร้อมพื้นที่วัฒนธรรม จำปาสัก” แหล่งมรดกโลก ได้มีเรื่องเล่าที่น่าประทับใจ



0 ความคิดเห็น:

Hotels2thailand.com

Like us on Facebook